ไอระเหย ควัน และแก๊สจากการเชื่อมโลหะ อันตรายที่ถูกมองข้าม

ไอระเหย ควัน แก๊สจากการเชื่อมโลหะ อันตรายที่ถูกมองข้าม
Share it

ไอระเหย ควัน และแก๊สจากการเชื่อมโลหะ อันตรายที่ถูกมองข้าม

     ในปัจจุบันกระบวนการเชื่อมโลหะนั้นนับว่ามีความสำคัญมากอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรม ในผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งๆ อาจจะต้องมีการประกอบจากชิ้นส่วนโลหะย่อยๆเป็นสิบเป็นร้อยชิ้น  การประกอบงานนั้นหากว่าไม่มีการเชื่อมโลหะแล้วอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นได้มากทีเดียว และเคยมีผู้กล่าวไว้ว่ารถยนต์ที่ท่านใช้อยู่อาจจะมีราคาแพงกว่าหลายเท่าตัวถ้าไม่ใช้การเชื่อมโลหะ

แต่หากท่านสังเกตจะพบว่า เมื่อใดที่มีการเชื่อมโลหะจะต้องมีควันเกิดขึ้นทุกครั้ง และท่านได้คิดบ้างหรือไม่ว่า ควันที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอันตรายต่อท่านและมันสามารถทำให้ท่าน “ตายผ่อนส่ง” ได้อย่างไม่รู้ตัว         ช่างเชื่อมที่เชื่อมโลหะในงานบางประเภท เช่น การเชื่อมสแตนเลส, เหล็กเคลือบสังกะสี หรือ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี หรือการเชื่อมชิ้นงานที่ผ่านการชุบเคลือบผิวมาแล้ว บุคคลจำพวกนี้มักจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายสูง

ในการเชื่อมโลหะจะมี ไอระเหย (Fumes)  เกิดขึ้นจากการที่โลหะได้รับความร้อนสูงจนกระทั่งหลอมละลายและเกิดไอระเหยของโลหะ  เมื่อไอระเหยถูกควบแน่น (Condense)  จะอยู่ในรูปอนุภาคของแข็งที่ละเอียดมาก (Solid fine particle) [1] ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน (0.001 มม.) [2]  ไอระเหยนี้จะมีส่วนประกอบสองส่วน คือไอระเหยที่มองเห็นได้ ซึ่งเราจะเห็นในลักษณะเปลวควันและอยู่ในรูปของออกไซด์ของโลหะ และไอระเหยที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นส่วนประกอบของแก๊ส เรียกว่าไอระเหยของแก๊ส [5]  ซึ่งมาจากแก๊สที่ใช้ในการเชื่อมหรืออาจจะมาจากการสลายตัวของฟลักซ์เนื่องจากความร้อนในการเชื่อมก็ได้

ไม่ว่าจะเป็นไอระเหยชนิดใดก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อช่างเชื่อมได้ โดยที่ควันและไอระเหยต่างๆ นี้จะลอยขึ้นสู่ด้านบนเนื่องจากความร้อน และอนุภาคขนาดเล็กก็จะลอยอยู่ในอากาศบริเวณที่ทำการเชื่อม และอนุภาคเล็กๆ เหล่านี้สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจของผู้ที่ปฏิบัติงานได้อย่างง่ายดายหากผู้ปฏิบัติงานไม่มีการป้องกันที่ดีพอ

อันตรายที่เกิดขึ้นจากไอระเหย ควัน และแก๊สจากการเชื่อมโลหะ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังนี้

  • ประเภทของกระบวนการเชื่อมที่ใช้ เช่นการเชื่อมแบบ ฟลักซ์คอร์ หรือการเชื่อมไฟฟ้าโดยใช้ลวดเชื่อมหุ้มฟลักซ์ เป็นต้น
  • ชนิดของลวดเชื่อมที่ใช้
  • สีเคลือบหรือสารเคลือบผิว รวมถึงคราบน้ำมัน จารบี ที่ตกค้างอยู่บนชิ้นงานเชื่อม
  • ลักษณะการระบายอากาศ
  • ชนิดของโลหะที่ทำการเชื่อม เช่น การเชื่อมสแตนเลสจะก่อให้เกิดไอระเหยของโครเมี่ยมและนิคเกิล ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหืดหรือมะเร็ง โดยเฉพาะโครเมี่ยมสามารถทำให้เกิดไซนัสและโพรงจมูกเป็นรู ส่วนธาตุแมงกานีสที่มีอยู่ในเหล็กกล้าคาร์บอนสามารถทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) **  เมื่อทำการเชื่อมเหล็กกล้า [3,4]

ควันและไอระเหยที่เกิดขึ้นสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ [2]

ผลระยะสั้น       เมื่อได้รับปริมาณไอระเหยมากเกินไปจะมีอาการดังนี้

  1. อาการไข้เนื่องจากไอระเหยของโลหะ (Metal fume fever) เกิดขึ้นในผู้ที่รับไอระเหยของออกไซด์สังกะสี (Zinc oxide fume) มากเกินไป อาการที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่  โดยปกติจะเกิดอาการขึ้นหลังจากได้รับไอระเหยไปแล้วหลายชั่วโมง อาจจะมีอาการไข้   หนาวสั่น  เจ็บแสบคอ  กระหายน้ำ ปวดกล้ามเนื้อหรืออ่อนเพลีย   เจ็บกระเพาะอาหารและลำไส้  คลื่นเหียนอาเจียน  อาการเหล่านี้จะบรรเทาลงภายในหนึ่งถึงสามวันหลังจากได้รับไอระเหย และไม่มีผลตกค้าง
  2. อาการเนื่องจากการได้รับโอโซนมากเกินไป (Exposure to ozone) การเชื่อมโลหะด้วยระบบ MIG หรือ พลาสมา ก่อให้เกิดก๊าซโอโซน และจะเกิดมากในการเชื่อมด้วย TIG [7] หากมีการสูดดมก๊าซนี้มากเกินไปอาจจะมีอาการน้ำมูกไหลมาก  ปวดศรีษะ  ง่วงนอน  เซื่องซึม  ระคายเคืองตา  หรือระคายเคืองทางเดินหายใจหรืออาจทำให้ทางเดินหายใจ อักเสบได้ หากอาการรุนแรงอาจจะมีของเหลวหรือเลือดคั่งในปอด แต่อย่างไรก็ตามอาการระคายเคืองเหล่านี้อาจจะไม่เกิดทันทีทันใด
  3. อาการเนื่องจากการได้รับไนโตรเจนออกไซด์มากเกินไป (Exposure to nitrogen oxide) ประกอบด้วยไนตริกออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเชื่อมอาร์ค [6] เมื่อได้รับไนโตรเจนออกไซด์จะมีการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจคล้ายกับการได้รับโอโซน มักจะไม่เกิดอาการทันที แต่อาจจะมีผลทำให้มีของเหลวในปอดหรือมีอาการน้ำท่วมปอด ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากหยุดการรับไอระเหย

นอกจากไนโตรเจนออกไซด์แล้ว ในการเชื่อมโลหะยังก่อให้เกิดแก๊สที่เป็นอันตรายอีกหลายชนิด ดังเช่น

คาร์บอนไดออกไซด์  (CO2)   มักจะใช้ในการเชื่อม MIG ทั่วไป แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นอันตรายหากทำการเชื่อมในที่อับอากาศหรือสถานที่คับแคบซึ่งมีการระบายอากาศไม่พอเพียง แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเข้าไปแทนที่ออกซิเจน ทำให้บริเวณการเชื่อมนั้นขาดออกซิเจน และสามารถทำให้ช่างเชื่อมหมดสติได้โดยไม่รู้ตัว

คาร์บอนมอนออกไซด์  (CO)   แก๊สชนิดนี้เกิดขึ้นจากการใช้แก๊สปกคลุมเมื่อทำการเชื่อม MIG เช่นกัน และจะมีอยู่ในบริเวณที่ทำการเชื่อม และเมื่อบริเวณนั้นมีการระบายอากาศที่ไม่ดีพอ ช่างเชื่อมจะมีโอกาสได้รับแก๊สนี้ในปริมาณสูง  การได้รับแก๊สชนิดนี้มากเกินไปก่อให้เกิดอาการง่วงซึม ปวดศรีษะ อาเจียน และอาจหมดสติได้

ฟอสจีน  (phosgene)  เป็นแก๊สพิษชนิดรุนแรง ปกติแล้วจะไม่เกิดจากควันที่เกิดจากการเชื่อม แต่จะเกิดขึ้นจากการที่แสงอุลตร้าไวโอเลตที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมทำปฏิกิริยาทางเคมีกับไอระเหยของสารละลายประเภทคลอริเนต ที่อยู่ใกล้กับบริเวณการเชื่อม เช่น น้ำยาไตรโครโรเอทธิลีน, ไตรโครโรอีเธน, หรือ เปอร์โครโรเอทธีลีน

 

การได้รับแก๊สชนิดนี้เป็นเวลานานจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ  หรือหากรุนแรงปอดอาจจะเสียหายได้

 

ผลระยะยาว    เมื่อร่างกายได้รับไอระเหยจากการเชื่อมเป็นเวลานานๆ  อาจเกิดผลต่อร่างกายได้ดังนี้ [2]

ผลต่อระบบทางเดินหายใจ   อาจเกิดการอักเสบหรือระคายเคืองเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงมากกว่าการสูบบุหรี่

ผลต่อระบบประสาท   ซึ่งมีผลจากการได้รับไอระเหยของตะกั่วหรือแมงกานีสมากเกินไป

ระบบหัวใจและหลอดเลือด   เนื่องจากการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ จากการเชื่อม MIG/MAG ก๊าซนี้จะรวมตัวกับฮีโมโกบิลในเลือด ทำให้เลือดมีความสามารถในการพาออกซิเจนลดลง ดังนั้นช่างเชื่อมจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

อาการผิวหนังอักเสบ      สาเหตุจากสารประกอบโครเมี่ยม (IV)   จากการเชื่อมสแตนเลส

โรคมะเร็ง   มีการพิจารณาเกี่ยวกับสารก่อมะเร็งในไอระเหยที่เกิดจากการเชื่อม และมีข้อมูลว่าช่างเชื่อมมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าบุคคลทั่วไปประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์

 

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่มีสาเหตุจากไอระเหยของโลหะ ดังนี้

ตะกั่ว  พบในทองเหลืองบางชนิด เหล็กกล้าผสม  โลหะผสมสำหรับงานบัดกรี   ตะกั่วมีผลต่อระบบประสาท  ระบบเลือด และระบบทางเดินอาหาร    แต่อย่างไรก็ตามในช่างเชื่อมจะพบอาการพิษจากตะกั่วน้อย แต่จะพบมากในผู้ที่ปฏิบัติงานตัดหรือเชื่อมงานที่เคลือบสีที่มีส่วนผสมของตะกั่ว เช่น การตัด-ทำลาย โครงสร้างเรือหรือสะพาน

แคดเมี่ยม  พบมากในโลหะชุบผิวและลวดเชื่อมเงินผสมบางชนิด (Silver brazing alloy)  สามารถก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงได้จากอาการถุงลมโป่งพอง [6]  และเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ  หลอดลมอักเสบ  โรคปอดอักเสบจากสารเคมี   อาการอาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับสารไปแล้วหลายชั่วโมง  การได้รับแคดเมี่ยมออกไซด์เพียงครั้งเดียวแต่ปริมาณมาก จะก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงตายได้    การได้รับพิษจากแคดเมี่ยมเรื้อรังอาจทำให้ปอดและไตเสียหายได้

แมงกานีส  พบในเหล็กกล้าผสมและลวดเชื่อมพอกผิวแข็งบางชนิด  แมงกานีสอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบประสาทและทางเดินหายใจ การได้รับไอระเหยจากแมงกานีสในการเชื่อมเชื่อม อาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรง

 

หรืออาจเกิดอาการไข้เนื่องจากการได้รับอาการไข้เนื่องจากไอระเหยของโลหะ (Metal fume fever)  และมีรายงานว่าพบอาการเกี่ยวกับระบบประสาทและการควบคุมกล้ามเนื้อ ในช่างเชื่อมที่ทำการเชื่อมเหล็กผสมแมงกานีสสูงและเชื่อมในสถานที่อับอากาศ

สังกะสี  พบในโลหะบัดกรี  ทองเหลือง  บรอนซ์  เหล็กชุบสังกะสีหรือที่เรียกว่า เหล็กชุบกัลวาไนซ์   เมื่อทำการเชื่อมจะมีไอระเหยของสังกะสีออกไซด์  หลังจากนั้นหลายชั่วโมง จะมีอาการไข้เนื่องจากไอระเหยของโลหะ  มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่  แต่จะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง

เหล็ก    การเชื่อมโลหะมักก่อให้เกิดเหล็กออกไซด์ และมีลักษณะเป็นอนุภาคเล็กๆ  สามารถเข้าสู่ปอดได้โดยผ่านทางการหายใจ  หากมีปริมาณมาก อนุภาคของเหล็กออกไซด์จะตกค้างอยู่ในปอด สามารถตรวจพบได้โดยการเอกซ์เรย์ จะเห็นเป็นเม็ดเล็กๆ กระจายอยู่ในปอด อาจทำให้เกิดโรคปอดจากการได้รับฝุ่นผงเหล็กมากเกินไป (siderosis)

โมลิบดีนั่ม   พบในโลหะผสมบางชนิด โมลิบดีนั่มก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและดวงตา เมื่อได้รับในปริมาณมาก

เรียบเรียงโดย ชัชชัย อินนุมาตร
บทความอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า